ปีนี้เป็นปีที่
"โฟร์โมสต์" มีความเคลื่อนไหวในทุก ๆ ด้าน
โดยเฉพาะกับการขยายช่องทางใหม่ ๆ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น อาทิ การนำนมกล้วย
สินค้าที่พัฒนาขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว
ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงจนกลายเป็นรสชาติสุดฮิตของเด็กและวัยรุ่น ขยายเข้าไปจำหน่ายยังร้านแมคโดนัลด์
ขณะเดียวกันก็พยายามเข้าไปยังไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคคนรุ่นใหม่
อาทิ ร่วมกับร้านไอศกรีมไอเบอร์รี่ พัฒนาไอศกรีม "นมกล้วย"
ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่โฟร์โมสต์จะดำเนินการอย่างเข้มข้นในปีนี้
นอกเหนือจากภารกิจสำคัญของผู้นำตลาดนมพร้อมดื่มเมืองไทยที่ต้องการกระตุ้นให้คนไทยหันมาดื่มนมมากขึ้น
ผ่านการนำทัพของ "ชนินทร์ อรรจนานันท์" กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟรีสแลนด์
คัมพิน่า (ประเทศไทย)
- พฤติกรรมการบริโภคนมของคนไทย
ปริมาณการบริโภคนมของประเทศไม่เท่ากับปริมาณการผลิต
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องแก้ คือรณรงค์ให้คนไทยดื่มนมให้มากขึ้น การบริโภคนมของคนไทยค่อนข้างต่ำ
เมื่อเทียบกับประเทศข้างเคียง โดยเฉลี่ยประมาณ 14.19 ลิตรต่อคนต่อปี
ขณะที่อัตราการดื่มนมโดยเฉลี่ยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ 60 ลิตรต่อคนต่อปี
และของโลกอยู่ที่ 103.9 ลิตรต่อคนต่อปี (เทียบกับคนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เฉลี่ย 58 ลิตร/คน/ปี)
- โฟร์โมสต์มีแผนรณรงค์อย่างไร
เราจัดโครงการ
"ดื่มนมให้โลกเห็น" หรือ "Thai Drink
Milk" ชักชวนให้คนไทยถ่ายรูปตัวเองขณะดื่มนม แล้วส่งมาที่ www.Thaidrinkmilk.com
โดยทุกหนึ่งรูปที่ส่งเข้ามา
เราจะบริจาคนมหนึ่งกล่องให้แก่ผู้ขาดแคลน ผ่านสภากาชาดไทย
โดยตั้งเป้าไว้ที่ไม่เกิน 1 ล้านกล่อง ในระยะเวลา 1 เดือน นับตั้งแต่ 1-31 พฤษภาคม
2555 และเราจะปิดโครงการนี้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2555 ซึ่งเป็นวันดื่มนมโลก
ถ้าสามารถรวบรวมภาพได้ถึง 4 แสนภาพ ภายในระยะเวลา 1 เดือนได้ เราอาจจะทำลายสถิติ Guinness
World of Records ได้ด้วย นมที่บริจาคจะเป็นนม UHT ขนาด 225 มิลลิลิตร
- ดีมานด์-ซัพพลายนมในตลาดไทย
ภาวการณ์นมล้นตลาดเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงน้ำท่วมปีที่แล้ว
ทำให้โรงงานใหญ่ ๆ 2-3 โรงงาน ได้รับผลกระทบหยุดซื้อนม
เป็นผลให้เกษตรกรที่เคยส่งนมให้กับโรงงานเหล่านั้นไม่สามารถส่งนมได้
เกิดภาวะน้ำนมดิบล้นระบบ จึงเป็นปัญหาของส่วนรวมจนถึงขณะนี้ ตัวเลขคร่าว ๆ
ปริมาณการผลิตนมพาณิชย์เวลานี้อยู่ที่ 1,200 ตัน/วัน นมโรงเรียนอยู่ที่ 1,000
กว่าตัน/วัน ซึ่งโดยรวมแล้วอยู่ที่ 2,500 ตัน/วัน
ส่วนที่เป็นปัญหาคือนมพาณิชย์
เพราะยังมีโรงงานที่ยังไม่สามารถรับซื้อนมได้อยู่ จึงทำให้มีนมล้นระบบถึง 100-200
ตัน/วัน ขณะนี้รัฐบาลใช้เงินช่วยเหลือซื้อนมจำนวนนี้มาผลิตเป็นนม UHT
เพื่อเป็นนมโรงเรียน
-
โฟร์โมสต์ตั้งเป้าเพิ่มการบริโภคนมอย่างไร
เมื่อเทียบกับการเติบโตของเครื่องดื่มชนิดอื่น
ๆ นมยังมีการเติบโตที่ต่ำ ถ้าเราสามารถทำให้นมเติบโตได้เท่ากับเครื่องดื่มชนิดอื่น
ๆ ก็พอใจแล้ว เราอยากเห็นอัตราการเติบโตของนมไม่ต่ำกว่าปีละ 10%
- รับมือกับการเปิด
"เออีซี" อย่างไร
การพัฒนาฟาร์มโคนมมีความสำคัญมาก
เพราะในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ภาพการแข่งขันจะเปลี่ยน เพื่อนบ้านเราคือเวียดนาม
มีการพัฒนาที่เร็วมาก บริษัทนมของเขาได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาล
ทำให้เติบโตอย่างรวดเร็ว และมีแผนในการบุกอาเซียนอย่างเต็มตัว
วันนี้นมดิบของไทยผู้ผลิตรับซื้อในราคา 18 บาท/กิโลกรัม
ขณะที่เวียดนามน้ำนมดิบราคา 14-15 บาท/กิโลกรัม
ดังนั้นอนาคตข้างหน้าอุตสาหกรรมนมของไทยต้องพัฒนาไปทั้งเกษตรกรและ
ผู้ผลิตนม
เพราะถ้าหากต้นทุนของน้ำนมดิบเราไม่สามารถต่อสู้ได้ในตลาดอาเซียน
นั่นหมายถึงสินค้าของตลาดเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนถูกกว่าก็มาตีตลาดได้
แม้จะไม่ได้เข้ามาในรูปน้ำนมดิบ ผมเชื่อว่าเขาจะสามารถส่งสินค้าสำเร็จรูปเข้าจำหน่ายได้
เนื่องจากต้นทุนน้ำนมดิบที่ถูกกว่า
นั่นหมายความว่าเราจะสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับประเทศที่มีต้นทุนน้ำนมดิบถูกกว่า
และจะทำให้เกษตรกรไม่สามารถขายน้ำนมดิบได้
นี่เป็นปัญหาสำคัญที่เกษตรกรต้องรีบปรับตัว
- โฟร์โมสต์มีการปรับตัวอย่างไร
เราได้ริเริ่มทำโครงการที่เรียกว่า
DDP
หรือ Dairy Development Program ระดมผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศเข้าไปให้ความรู้แก่เกษตรกรในระดับฟาร์ม
เพื่อพัฒนาคุณภาพและลดต้นทุน
ถ้าเราสามารถเพิ่มผลผลิตของวัว/ตัว/วันโดยที่ต้นทุนเท่าเดิม เท่ากับต้นทุนเราถูกลง
หรือถ้าเราสามารถลดต้นทุนในการเลี้ยงวัว/ตัว
ก็คือเป็นการลดต้นทุนโดยรวมด้วยเช่นกัน นั่นหมายถึงว่าแรงจูงใจ
หรือผลกำไรของเกษตรกรมีมากขึ้น โครงการนี้จะเปิดตัวในวันที่ 18 พฤษภาคมนี้
เราจะพาสื่อมวลชนไปดูฟาร์ม ศูนย์นมตัวอย่าง ที่เราพัฒนาจนมาเป็นแถวหน้าของเอเชีย
อีกโครงการหนึ่งที่ต้องการพัฒนาคือนมอินทรีย์
หรือ organic
milk ซึ่งโฟร์โมสต์เซ็นสัญญากับศูนย์ที่เขาสอยดาว จ.จันทบุรี
ใช้ชื่อโครงการว่า "นมอารมณ์ดี นมอินทรีย์เขาสอยดาว"
โดยบริษัทส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรปรับปรุงการผลิตนมให้เป็นกระบวนการอินทรีย์ทั้งหมด
เพราะนี่คือเทรนด์และแนวโน้มของตลาดโลกในปัจจุบันและอนาคต
ที่ผู้บริโภคต้องการสินค้าที่ปลอดสารพิษ
โครงการนมอินทรีย์ที่เขาสอยดาว
ตอนนี้มีวัวเข้าร่วมโครงการประมาณ 900 ตัว
เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างบริษัทฟรีสแลนด์ คัมพิน่า ประเทศไทย,
สหกรณ์โคนมสอยดาว และกรมปศุสัตว์ คาดว่าโครงการนี้จะทำออกมาเป็นเชิงพาณิชย์ประมาณต้นปี
2556
No comments:
Post a Comment