"เป๊ปซี่-โค"
เดินหน้ารุกตลาดน้ำดำเต็มสูบ หลังยุติความสัมพันธ์เสริมสุข ดึงยักษ์ใหญ่บุญรอดฯ
เป็นพันธมิตรใหม่ เพิ่มสเกล ดึงร่วมทุนสร้างโรงงานผลิตน้ำอัดลม
จากเดิมแค่ขอให้รับจัดจำหน่าย คาดหลังหมดสัญญา 1 พ.ย. 55 ปูพรม
"เป๊ปซี่กระป๋อง-ขวดพีอีที" ทุกตลาด พร้อมอุดรอยรั่ว
"ตู้แช่-ร้านอาหาร" ซึ่งเคยเป็นหัวขบวนแซงหน้าโค้ก แต่ติดปัญหา
"ขวดแก้ว" ขาดหนัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
ด้วยสัญญาระหว่างเป๊ปซี่-โค กับบริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน)
ซึ่งรับผิดชอบผลิตและจัดจำหน่ายเป๊ปซี่มาอย่างยาวนานกว่า 50 ปีจะสิ้นสุดในวันที่ 1
พฤศจิกายนนี้ ทำให้เป๊ปซี่-โค
ยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มระดับโลกต้องเร่งหาทางออกเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจในไทย
ทั้งการผลิตและการกระจายสินค้า เพื่อทำให้ธุรกิจไม่สะดุด
และไม่เปิดโอกาสให้คู่แข่งสำคัญอย่าง "โค้ก" อาศัยจังหวะนี้แซงหน้าไป
ไม่นานมานี้เป๊ปซี่-โคได้ทุ่มงบฯกว่า
4,000 ล้านบาท ซื้อโรงงานจากซานมิเกล บนพื้นที่ 95 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้
ระยอง เพื่อปรับปรุงเป็นโรงงานผลิตน้ำอัดลม
อย่างไรก็ตาม
ความเคลื่อนไหวที่ทุกฝ่ายจับตามองล่าสุด
คือเป๊ปซี่-โคได้ชักชวนกลุ่มเบียร์สิงห์-บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด
เข้ามาร่วมลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำอัดลมเป๊ปซี่
จากก่อนหน้านี้ได้ชักชวนให้เป็นผู้จัดจำหน่ายและกระจายสินค้า
เนื่องจากบุญรอดฯเป็นธุรกิจเครื่องดื่ม พรั่งพร้อมด้วยเงินทุน บุคลากร
และเครือข่ายร้านค้ากว้างขวางที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ คล้าย ๆ
กับบทบาทของเสริมสุขในอดีต
ดึงบุญรอดฯร่วมทุนสร้างโรงงาน
แหล่งข่าวในวงการผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่กล่าวกับ
"ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เป๊ปซี่-โคกำลังเร่งเจรจากับกลุ่มบริษัท บุญรอด
บริวเวอรี่ จำกัด เพื่อเป็นผู้จัดจำหน่ายเป๊ปซี่และเครื่องดื่ม
อื่น ๆ ในเครือ
ล่าสุดเป๊ปซี่-โคได้ยื่นข้อเสนอให้บุญรอดฯร่วมลงทุนสร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่มใหม่
แม้ว่าจะมีโรงงานซึ่งซื้อมาจากซานมิเกลแล้ว 1 แห่ง
จากที่ผ่านมาเสริมสุขมีโรงงานรับผลิตให้กับเป๊ปซี่ถึง 5 แห่ง
การยื่นข้อเสนอครั้งนี้เป๊ปซี่-โคต้องการข้อสรุปโดยเร็ว
ก่อนสัญญาการจัดจำหน่ายน้ำอัดลมชื่อก้องโลกกับบริษัทเสริมสุขจะยุติความสัมพันธ์ระหว่างเป๊ปซี่กับบริษัทเสริมสุขสิ้นสุดลง
เมื่อฝ่ายหลังได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นทั้งหมด
จากที่เคยเป็นของตระกูลบุลสุข เปลี่ยนเป็นธุรกิจในเครือนายเจริญ สิริวัฒนภักดี
และตกลงยกเลิกสัญญาที่มีอยู่เดิม
ทำให้เป๊ปซี่-โคต้องเข้ามาเป็นผู้ผลิตและทำตลาดน้ำอัดลมเอง
ขณะที่แหล่งข่าวในบริษัท
บุญรอดบริวเวอรี่ ยอมรับว่า เป๊ปซี่-โคได้ยื่นข้อเสนอกับบุญรอดฯ
ทั้งการเป็นพันธมิตรกระจายสินค้า รวมทั้งจับมือกัน
เพื่อตั้งโรงงานผลิตเครื่องดื่มขึ้นมาใหม่จริง แต่ยังไม่มีข้อสรุปใด ๆ
ตอบโจทย์ทั้งผลิต-จัดจำหน่าย
ผู้เกี่ยวข้องในวงการเครื่องดื่มวิเคราะห์ว่า
หากผลเจรจากับบุญรอดฯลงตัว
จะทำให้การรุกตลาดเครื่องดื่มของยักษ์น้ำดำรายนี้คล่องตัว ทั้งการกระจายสินค้า
และสนับสนุนขวดแก้ว เนื่องจากบุญรอดฯ มีเครือข่ายเอเย่นต์
และซับเอเย่นต์เครื่องดื่ม กระจายสินค้าสู่ร้านค้ายย่อยทั่วประเทศ นอกจากนี้
ยังมีบริษัท บางกอกกล๊าส เป็นโรงงานผลิตขวด
อย่างไรก็ตาม
ช่วงแรกการรุกตลาดของเป๊ปซี่ อาจมีปัญหาขาดแคลนขวดแก้ว
เนื่องจากขวดเดิมเป็นของเสริมสุข ส่งผลต่อตลาดกลุ่มตู้แช่
ซึ่งเดิมเป๊ปซี่แข็งแกร่งเหนือกว่าโค้กมาก เพราะฉะนั้นช่วงแรก
เป๊ปซี่จะต้องเน้นการทำตลาดด้วยขวดพีอีที และกระป๋องแคน
โดยมุ่งไปที่ช่องทางโมเดิร์น ขณะเดียวกัน
มีนโยบายเพิ่มน้ำหนักกับเครื่องดื่มกลุ่มน็อนคาร์บอเนต (ไม่อัดก๊าซ) มากขึ้น
สอดรับกับเทรนด์ของธุรกิจเครื่องดื่ม และเป๊ปซี่ประสบความสำเร็จมาแล้วในหลาย ๆ
ประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในหลาย ๆ
ประเทศได้เปลี่ยนจากขวดแก้ว มาเป็นขวดพีอีที และกระป๋องแคน ส่วนในประเทศไทย
แม้ว่าเครื่องดื่มส่วนใหญ่จะยังใช้ขวดแก้ว แต่แนวโน้มในอนาคตจะค่อย ๆ
ปรับไปใช้ขวดพีอีที และกระป๋องแคน
เนื่องจากระบบการจัดจำหน่ายเครื่องดื่มที่เป็นขวดแก้ว (รีเทิร์นนาเบิล) มีขั้นตอนยุ่งยาก
ต้องมีค่ามัดจำขวด มีต้นทุนเก็บขวดกลับมาทำความสะอาด ประกอบกับช่องทางจำหน่าย
โดยเฉพาะโมเดิร์นเทรดให้ความสำคัญกับเครื่องดื่มกลุ่ม "วัน-เวย์"
เพื่อลดภาระในการรับคืนขวด
เร่งยกเครื่องโรงงานซานมิเกล
แหล่งข่าวในวงการเครื่องดื่มเปิดเผยว่า
เป๊ปซี่-โคได้ระดมทีมงาน โดยเฉพาะในส่วนโรงงานจำนวนมาก เพื่อเร่งขยายโรงงานในเฟส 2
ให้ทันกับกำหนดเวลาสิ้นสุดสัญญากับเสริมสุขในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้
นอกเหนือจากไลน์ผลิตขวดพีอีทีเดิม
เป๊ปซี่ตัดสินใจสร้างไลน์เครื่องดื่มกลุ่มขวดแก้วด้วย
ซึ่งพื้นที่โรงงานกว้างขวางพอจะทำได้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะทันกำหนดเวลาหรือไม่
และต้องดูว่าเป๊ปซี่จะแก้ปัญหาอย่างไร
"ขวดแก้วหรือขวดคืนในช่องทางร้านค้าทั่วไปและร้านอาหาร
ถือเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดของตลาดน้ำอัดลม
และเป๊ปซี่ครองความเป็นเจ้าตลาดในช่องทางนี้
โดยจากนี้ต้องติดตามต่อไปว่าเป๊ปซี่จะเลือกซัพพลายขวดจากที่ไหน"
รายงานข่าวระบุว่า
การดำเนินงานโรงงานระยองจะถูกแบ่งเป็นเฟสแรก ปรับปรุงอาคารและสาธารณูปโภคเดิม
ใช้เป็นโรงงานบรรจุขวดพีอีที พร้อมติดตั้งเครื่องจักรเพิ่มเติม
และขยายพื้นที่ส่วนคลังสินค้า ส่วนเฟส 2 เป็นพื้นที่ต่อขยายใหม่
เพื่อรองรับไลน์ผลิตอื่น ๆ
No comments:
Post a Comment