Thursday, 2 February 2012

4ยักษ์คอนซูเมอร์ยึดอาเซียน! "เสี่ยเจริญ-สหพัฒน์-โอสถสภา-สิงห์"เฮโลทุ่มทุน


ยักษ์สินค้าอุปโภคบริโภคไทยดาหน้าบุกประเทศเพื่อนบ้านรับเออีซี "สหพัฒน์" ส่งมือดี "สันติ วิลาสศักดานนท์" ดูลู่ทางลงทุนพม่า "ตรางู" ตั้งบริษัทใหม่รับตลาดเสรี "เบอร์ลี่ยุคเกอร์" ทุ่มเจาะเวียดนามผุดโรงงานแก้ว ด้าน "สิงห์" ประเดิมตั้งทีมเฉพาะกิจบุกอินโดจีน นายกสมาคมตลาดชี้ "พม่า" ดาวรุ่ง แนะธุรกิจไทยเร่งลงทุนปีนี้ก่อนเปิดประเทศเหตุต้นทุนต่ำ


ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ที่จะเริ่มเปิดเสรีอย่างเป็นทางการในปี 2558 ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจ ของทุกประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทยที่เรียกว่ามีธุรกิจยักษ์ใหญ่ระดับแนวหน้าอยู่เป็นจำนวนมากที่มีความพร้อมทั้งเงินลงทุน บุคลากร เทคโนโลยีต่าง ๆ ถึงชั่วโมงนี้เริ่มเห็นความเคลื่อนไหวชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะค่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่สัญชาติไทย 4 ค่ายยักษ์ ที่ประกาศนโยบายอย่างชัดเจนที่จะกระโดดเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ประกอบด้วย เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ของเจริญ สิริวัฒนภักดี กลุ่มสหพัฒน์ โอสถสภา และเบียร์สิงห์



เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ทุ่มเจาะเวียดนาม

รายงานข่าวจากบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี เปิดเผยว่า บริษัทได้ร่วมมือกับ OWENS-ILLINOIS (O-I) และ Saigon beer Alcohol Beverage Company (SABECO) เตรียมเปิดโรงงานผลิตแก้วขนาดใหญ่ที่สุดในเวียดนาม เพื่อผลิตขวดแก้วสำหรับบรรจุผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจเครื่องดื่มและอาหาร โดย นายเจริญ สิริวัฒนภักดี จะเดินทางไปร่วมพิธีเปิดโรงงานในวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งก่อนหน้าบีเจซีได้เข้าไปลงทุนในเวียดนามตั้งโรงงานผลิตกระดาษชำระและโรงงานผลิตกระป๋องอะลูมิเนียม

เมื่อปี 2553 บีเจซียังได้เข้าร่วมทุนกับ "ไทยคอร์ปกรุ๊ป"ผู้ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในเวียดนาม มีมูลค่าการลงทุนกว่า 100 ล้านบาท เป็นการเตรียมให้บริการด้านการจัดจำหน่ายสินค้าแก่ผู้ประกอบการไทยที่จะขยายตลาดไปในอินโดจีน

นอกจากนี้บีเจซีได้ตั้งบริษัท บีเจซี กล๊าส เวียดนาม ลิมิเต็ด ในเวียดนาม เมื่อต้นปี 2553 เพื่อสร้างโรงงานผลิตและจำหน่ายขวดแก้ว มูลค่าการลงทุน 52.74 ล้าน เหรียญสหรัฐ

แหล่งข่าวจากเบอร์ลี่ ยุคเกอร์กล่าวว่า การลงทุนโรงงานแก้วและบรรจุภัณฑ์ในเวียดนามนี้นอกจากบีเจซีต้องการจะซัพพอร์ตตลาดเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมอาหารในเวียดนามที่กำลังเติบโตแล้ว ยังต้องการจะใช้โรงงานดังกล่าวเป็นฐานในการส่งออกแก้วและบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ไปยังประเทศในกลุ่มอาฟต้าและเออีซี

สหพัฒน์-อังกฤษตรางู พร้อมบุก

นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เครือสหพัฒน์มองว่าเออีซีที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 จะเป็นโอกาสในการทำตลาดและลงทุนในอาเซียนเพิ่มขึ้นทุกวันนี้ตลาดอาเซียนก็โตวันโตคืนและสามารถทดแทนยุโรปได้ สำหรับเครือสหพัฒน์ ประเทศที่สนใจเป็นพิเศษ คือ พม่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้นายสันติ วิลาสศักดานนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนา อินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบเข้าไปดูแลโอกาสในการลงทุนต่าง ๆ ในพม่าอย่างเต็มที่ ซึ่งธุรกิจที่สนใจจะเข้าไปก็คือ กลุ่มอุปโภคบริโภค

และเพื่อรองรับการเปิดเออีซี ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา นายบุณยสิทธิ์มีนโยบายให้บริษัทในเครือกวˆา 200 บริษัทเตรียมความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยให้แต่ละบริษัทเน้นสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเองเพื่อรุกเข้าไปทำตลาดในอาเซียน

ล่าสุด นายอนุรุท ว่องวานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทอังกฤษตรางู ระบุว่า นอกจากการเตรียมความพร้อมในแง่ขององค์กร บริษัทยังได้ตั้งบริษัทใหม่เพื่อรองรับการขยายตลาดในอาเซียน ในนามบริษัท บีดี เทรดดิ้ง จำกัด ทำหน้าที่เป็นเทรดดิ้งคอมปะนี จำหน่ายสินค้าของบริษัทในเครืออังกฤษตรางูและทำหน้าที่เป็นบริษัทร่วมทุนในกลุ่มประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง

จากนี้ไปการดำเนินธุรกิจจะมุ่งไปที่การจับมือกับพันธมิตรเพื่อบุกตลาดอาเซียน ภายใต้โมเดลที่หลากกลายขึ้นตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ รวมถึงการลงทุนใหม่ ๆ และการลงทุนเพิ่มฐานการผลิตนอกประเทศเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

รายงานข่าวจากบริษัท โอสถสภา อินเตอร์เนชันแนล จำกัด กล่าวว่า นอกจากเครื่องดื่มชูกำลัง เอ็ม-150 และเครื่องดื่มเกลือแร่ เอ็มสปอร์ต ที่บริษัทส่งไปทำตลาดในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าวแล้ว ในช่วง 2-3 ปีมานี้บริษัทได้เริ่มนำแบรนด์เบบี้มายด์และทเวลฟ์พลัสไปทำตลาดทั้งในเวียดนามและกัมพูชา ซึ่งถือเป็นตลาดใหม่ที่ยังไม่มี คู่แข่งมากนัก

การที่ค่ายใหญ่ให้ความสำคัญและขยายการรุกตลาดไปยังเวียดนามและกัมพูชามากขึ้น หลัก ๆ มาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยู่ในเกณฑ์สูงมาอย่างต่อเนื่อง และจำนวนประชากรที่มีสูงอย่างกรณีของเวียดนามที่มีประชากรมากกว่า 80 ล้านคน นอกจากนี้เวียดนามยังมีความสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ มีแรงงานที่มีศักยภาพและมีราคาถูก

ส่วนกัมพูชาแม้จำนวนประชากรอาจจะมีไม่มากนัก หรือประมาณ 31-32 ล้านคน แต่จากการเมืองที่มีเสถียรภาพและมีการปรับปรุงกฎหมายด้านเศรษฐกิจ การเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนต่างประเทศ การเร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น สนามบิน ถนน ไฟฟ้า ประปา ทำให้นักลงทุนจากต่างประเทศทยอยเข้าไปลงทุนเพิ่มขึ้นและเป็นผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจอยูˆในเกณฑ์สูง

กระทิงแดงเข้มลดต้นทุนรับมือ

นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานกรรมการ บริษัท เดอเบล จำกัด บริษัทในเครือกระทิงแดง เปิดเผยว่า การเปิดเออีซีถือเป็นโอกาสการทำธุรกิจเปิดออกมากขึ้น สำหรับกระทิงแดงในแง่การ แข่งขันระยะสั้นจะได้เปรียบด้วยราคาสินค้าที่ถูกกว่า แต่ในระยะยาวจะเสียเปรียบได้ด้วยต้นทุนค่าแรงงานที่สู้ไม่ได้ ขณะนี้บริษัทจึงต้องเร่งลดต้นทุนด้าน ต่าง ๆ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพทุกเรื่อง ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานอยู่แล้วที่จีน, อินโดนีเซีย, เวียดนาม ซึ่งบริษัทมีเอเย่นต์ในต่างประเทศอยู่แล้ว

"โอกาสของเราสำหรับเออีซีเรา มองโอกาสด้านการจัดจำหน่ายสินค้ามากกว่า เพราะมีบริษัทจำนวนมากที่เข้ามาเปิดตลาดในไทยและต้องการหา ดิสทริบิวเตอร์ในการขยายตลาด"

"พม่า" โอกาสทองนักลงทุนไทย

นายฉัตรชัย วิรัตน์โยสินทร์ ผู้อำนวยการสายการตลาด บริษัท สิงห์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทสนใจในการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านมาหลายปีแล้ว ถ้าพูดถึงประเทศที่น่าสนใจที่สุดตอนนี้คือ พม่า ที่มีแนวโน้มจะเปิดประเทศ ทุกบริษัทมองเห็นโอกาส โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ปัจจุบันบริษัทก็ทำอย่างเป็นระบบมากขึ้นในการรุกตลาดอินโดไชน่า โดยได้แต่งตั้ง นายปิติ ภิรมย์ภักดี ผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ เป็นผู้อำนวยการสายการตลาดภูมิภาค เพื่อมาดูแลตลาดในภูมิภาคโดยเฉพาะ

นายฉัตรชัยกล่าวว่า การให้น้ำหนักกับประเทศในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น เนื่องจากมองว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมากทั้งในกัมพูชาหรือเวียดนาม ซึ่งเป็นปัจจัยมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อ รวมทั้งจำนวนประชากรที่มีเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญก็คือการเปิดเขตการค้าเสรีจะทำให้อัตราภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศสมาชิกทยอยลดลงเหลือ 0% ประกอบกับตลาดในประเทศมีแนวโน้มที่จะเติบโตไม่มาก จึงเท่ากับเป็นการสร้างรายได้จากตลาดต่างประเทศเพิ่มอีกทางหนึ่ง

นายตุลย์ ศุภสวัสดิ์ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย แสดงทรรศนะว่า กรณีของเออีซีขณะนี้มองว่าพม่าเป็นประเทศที่น่าสนใจที่สุด และถือเป็นดาวรุ่งของอาเซียนซึ่งมีสัญญาณทางบวกเพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าจะมีการเปิดตลาดภายใน 1-2 ปีนี้ และไทยก็มีโอกาสสูงมาก เพราะเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ที่น่าสนใจก็คือ จำนวนประชากรที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย

ที่สำคัญคือ พม่ายังเป็นประเทศที่มีต้นทุนทางการตลาดต่ำ เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรทำให้บริษัทจากยุโรปและอเมริกาไม่สามารถเข้าไปทำตลาดในพม่าได้ และกลุ่มที่จะไปลงทุนหลัก ๆ จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค เพราะที่ผ่านมาพม่าเน้นการนำเข้าจากไทยเป็นหลัก

"หากบริษัทไทยรายไหนที่สนใจจะไปก็ควรจะไปตั้งแต่ตอนนี้ เพราะหากปีนี้หรือปีหน้า เมื่อเลิกมาตรการคว่ำบาตรแล้ว ยุโรป อเมริกาจะสามารถเข้าไปในพม่าได้ ต้นทุนทางการตลาดต่าง ๆ ก็จะสูงขึ้น" นายตุลย์กล่าว

No comments:

Post a Comment