Sunday 17 April 2011

เป๊ปซี่-เสริมสุข เปิดศึกชิง "เสียงข้างมาก" คุมอำนาจบริหาร

การบอกเลิกสัญญาของเสริมสุขต่อเป๊ปซี่ โค แม้จะสร้างความประหลาดใจให้กับคนในวงการ ขณะเดียวกันก็เป็นไปตามสิ่งที่หลายคนคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า

ด้วยก่อนหน้าที่จะมีการบอกเลิกสัญญาในวันที่ 31 มีนาคมเพียงไม่กี่วัน แหล่งข่าววงในเปรยว่าให้เตรียมจับตา "เซอร์ไพรส์" ที่จะเกิดขึ้นระหว่างเสริมสุขกับเป๊ปซี่ ไม่ได้จบง่าย ๆ อย่างที่คิดไว้




ใครจะคาดคิดว่าเซอร์ไพรส์นั้นก็คือการบอกเลิกสัญญาที่มีต่อกันมาอย่างยาวนานร่วม 60 ปี ทั้งที่ท่าทีของเป๊ปซี่หลังจากการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ก็ดูจะโอนอ่อนผ่อนตาม ยอมรับเงื่อนไขใหม่ของฝั่งผู้ถือหุ้นคนไทย โดยยอมแก้ไขสัญญา Exclusive Bottling Appointment (EBA) ตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์

ใครจะคาดคิดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเสริมสุขกับเป๊ปซี่ ที่ขึ้นชื่อเรื่องการเป็นพันธมิตรที่ทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นจนกลายเป็นจุดแข็งสำคัญในการเผด็จศึกคู่แข่งมาตลอดจะมาถึงวันนี้ได้ งานนี้ฝั่งเสริมสุขอ้างว่า

"บริษัทได้รับสัญญา Exclusive Bottling Appoint ment (EBA) ฉบับใหม่ที่ลงนามโดยเป๊ปซี่ ซึ่งแจ้งให้บริษัทลงนาม แต่สัญญาดังกล่าวมีเนื้อหาที่สำคัญหลายประการไม่ถูกต้องตรงกันกับมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่มีเนื้อหาสาระสำคัญ 5 ประการ จึงไม่สามารถร่วมลงนามได้"

ขณะที่เป๊ปซี่ โค ส่งสาส์นโต้กลับว่า "เป๊ปซี่ โค ได้แสดงความจริงใจที่จะดำเนินการเจรจากับบริษัทเสริมสุขเสมอมา เพื่อที่จะพิจารณาทบทวนและแก้ไขสัญญา EBA ตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ เราได้ยอมรับสาระสำคัญทั้ง 5 ประการตามที่ได้ระบุอยู่ในมติของที่ประชุมและแจ้งไปยังเสริมสุขแล้ว แต่ระหว่างการเจรจาเรื่องการใช้ถ้อยคำในสัญญา EBA บริษัทเสริมสุขได้ระบุข้อเรียกร้องเพิ่มเติมในช่วงระยะเวลาใกล้วันครบกำหนด โดยข้อเรียกร้องดังกล่าวอยู่นอกเหนือจากมติของที่ประชุม"

พร้อมทั้งระบุอีกว่า "เป๊ปซี่ โคได้ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องใหม่หลาย ๆ ข้อ โดยคำนึงถึงความเป็นพันธมิตรทางการค้าและความร่วมมือระหว่างกัน อย่างไรก็ตามมีข้อเรียกร้องและเงื่อนไขซึ่งไม่ สมเหตุสมผลอยู่หลายประการ ซึ่งเราเชื่อว่าจะส่งผลกระทบกับผลประโยชน์ของเป๊ปซี่ โคที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และโดยเฉพาะการเป็นพันธมิตรทางการค้ากับบริษัทเสริมสุข"

ถึงวันนี้การแปรเปลี่ยนสถานะจากพันธมิตรทางธุรกิจ (strategic partner) มาเหลือเพียงลูกค้ากับบริษัทรับจัดจำหน่าย ย่อมสร้างความสั่นสะเทือนในวงการเครื่องดื่มไม่มากก็น้อย ที่สำคัญคือผลกระทบต่อตัวบริษัททั้ง 2 ฝ่าย

ต้องบอกว่า วันนี้กลุ่มบุลสุขและผู้ถือหุ้นใหม่เตรียมทางหนีทีไล่ไว้ดีกว่ามาก หาทางออกให้ตัวเองด้วยการปรับไปสู่ธุรกิจรับจัดจำหน่ายเต็มตัว การไม่มี เป๊ปซี่ ก็สามารถหาสินค้าอื่น ๆ มาทดแทนได้อย่างไม่มีปัญหา

ที่สำคัญคือสามารถปลดแอกตัวเองออกจากสัญญา EBA ภาระหนักที่ทำให้เสริมสุขต้องจ่ายค่าหัวน้ำเชื้อแก่เป๊ปซี่เฉลี่ยปีละ 3,300 ล้านบาท หรือคิดเป็น 30% จากต้นทุนทั้งหมด และอนาคตหากทางเป๊ปซี่ โค ยังต้องการให้เสริมสุขเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าให้ สถานะก็จะเหลือเพียงลูกค้า กับผู้รับจ้างผลิตและจัดจำหน่ายเท่านั้น

สำหรับเป๊ปซี่ โค สถานการณ์ย่อมแตกต่าง เพราะที่ผ่านมาดูเหมือนยักษใหญรายนี้ไม่ได้เตรียมหาทางออกไว้มากมายกรณีการยกเลิกสัญญาที่ทำกับเสริมสุข

ความเคลื่อนไหวที่เสมือนเป็นการสู้กลับ (อย่างเปิดเผย) เพิ่งจะมีให้เห็น ชัด ๆ เมื่อครั้งที่มีชื่อของ "ซันโตรี่" ยักษ์เครื่องดื่มจากญี่ปุ่น ปรากฏเข้ามาซื้อหุ้นเสริมสุขในนาม "เอสบีเค เบฟเวอเรจ" รวดเดียวถึง 9.13% เมื่อปลายกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เอง

แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นที่จับตาของคนในวงการ ด้วยต่างตั้งข้อสังเกตว่า "เอสบีเคฯ" เป็นตัวแทนจากฝ่ายเป๊ปซี่ โค

หากเป็นเช่นนั้นจริง เท่ากับว่ากลุ่มเป๊ปซี่ที่ถือครองหุ้นในเสริมสุขอยู่แล้วถึง 41.54% หากผนวกหุ้นของเอสบีเคฯเข้าไปก็จะผนึกกันเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ครองเสียงข้างมาก และมีอำนาจในการบริหารจัดการในเสริมสุขได้อย่างสะดวกโยธินมากขึ้น

ที่สำคัญคือจะกลายเป็นผู้ถือเสียงข้างมากในการประชุม โดยเฉพาะการประชุมใหญ่สามัญประจำปีในวันที่ 29 เมษายนนี้ ศึกที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ด้วยวาระการประชุมของวันนั้นคือ การเสนอตั้งคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็เสนอกรรมการของตัวเองเข้ามาบริหารคนละชุด

วันนี้เองจะเป็นตัวตัดสินผู้ที่จะเข้ามามีอำนาจควบคุมบริษัทว่าจะเป็นฝ่ายไหน

และนั่นก็จะหมายถึงชัยชนะที่รออยู่ แต่ก็คงไม่ใช่ชัยชนะที่แท้จริง เพราะในการทำธุรกิจ กรณีที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 ฝ่ายมีหุ้นมากกว่าฝ่ายละ 25% และมีความเห็นไม่ตรงกันใคร ๆ ก็รู้ว่าเป็น อุปสรรคในการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างยิ่ง

No comments:

Post a Comment