วันนี้สงครามราคาของตลาด ชาเขียวยังไม่สิ้นสุดลงง่าย ๆ เมื่อทั้งโออิชิ และอิชิตัน ต่างเปิดฉากแลกหมัดกันอย่างไม่มีใครยอมใคร รวมถึงมีคู่แข่งใหม่อย่าง "มิเรอิ" ของซันโตรี่ และทิปโก้ เข้ามาร่วมวง ก็ยิ่งทำให้การแข่งขันทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก วันนี้ มิเรอิ ขายในเซเว่นอีเลฟเว่น 16 บาท ขณะที่โออิชิขาย 2 ขวด 25 บาท ส่วนอิชิตันกลับมายืนที่ราคาเดิม 16 บาท หลังจากเพิ่งหมดโปรโมชั่น 14 บาท ไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา
แน่นอนว่างานนี้ผู้ได้รับประโยชน์คือผู้บริโภค แต่หากมองในแง่การแข่งขันถือว่าผู้นำอย่างโออิชิอยู่ในภาวะได้เปรียบด้วยสายป่านที่ยาวกว่า ความเป็นผู้นำตลาด ที่ได้เปรียบเรื่องสเกลการผลิตทำให้ต้นทุนการผลิตถูกกว่าแบรนด์อื่น ๆ ล่าสุดกับการเปิดโรงงานผลิตแห่งใหม่ที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร ซึ่งใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เรียกว่า Cold Aseptic Filling จากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทแรกที่นำเทคโนโลยี ดังกล่าวมาใช้ในการผลิตได้สำเร็จ
ทั้งยูเอชทีและขวดเพ็ท ทั้ง 2 โรงงานใช้งบฯลงทุนทั้งสิ้น 2,500 ล้านบาท ซึ่งใช้ระบบที่ช่วยลดการใช้พลังงานได้มากกว่า 30% ซึ่งทำให้โออิชิสามารถประหยัดต้นทุน และส่งผลให้บริษัทสามารถแข่งขันเรื่องต้นทุนได้มากขึ้น
"แมทธิว กิจโอธาน" กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การลดราคาไม่ใช่กลยุทธ์ของโออิชิ แต่ในเซเว่นฯเป็นช่องทางที่ใช้สำหรับทำโปรโมชั่นเพื่อให้ลูกค้าเกิดการทดลองดื่ม เชื่อว่าสงครามราคาสำหรับชาเขียวยังจะมีไปอย่างนี้เรื่อย ๆ ไม่หมดแค่ปีนี้
"วันนี้เราทำโปรโมชั่นได้หลากหลายมากขึ้น จากเดิมมีเพียงขนาดเดียว 20 บาท หากลดราคาก็จะลดลงมาทั้งแผง แต่วันนี้ด้วยสินค้าและขนาดที่หลากหลาย ทั้งยูเอชที ฟรุ๊ตโตะขนาด 350 กรัม และโออิชิขนาด 500 กรัม ทำให้ วันนี้โออิชิสามารถเล่นราคาได้มากขึ้น"
อย่างไรก็ตามหากดูจากสเต็ปของเบอร์ 1 ตลาดชาเขียววันนี้ ไม่ได้มองแค่การแข่งขันในประเทศ ซึ่งเป็นวิชั่นของ "ไทยเบฟเวอเรจ" บริษัทแม่ ที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนของธุรกิจเครื่องดื่ม "น็อนแอลกอฮอล์" ให้เพิ่มขึ้นจากกระแสรักสุขภาพของผู้บริโภคที่เกิดขึ้นทั่วโลก แน่นอนว่าภารกิจหลักทั้งหมดอยู่ที่การเพิ่มสัดส่วนรายได้ของโออิชิให้เพิ่มขึ้น
ความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองล่าสุด คือการตั้งบริษัท "โออิชิ อินเตอร์เนชั่นแนล" ที่ฮ่องกง เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการขายและการทำตลาดของโออิชิทั่วโลก เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป โดยจะใช้โรงงานที่เพิ่งเปิดตัวที่นวนครเป็นศูนย์กลางการผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีการ จดลิขสิทธิ์สินค้าในทวีปยุโรปเรียบร้อย และพร้อมจะขายในยุโรปและภูมิภาคเอเชียในช่วงไตรมาส 4 โดยใช้เครือข่าย"ไทยเบฟเวอเรจ อินเตอร์เนชั่นแนล" วางจำหน่ายสินค้า ซึ่งมีเครือข่ายอยู่ 80 ประเทศทั่วโลก
งานนี้ทางโออิชิตั้งเป้าเบา ๆ ที่ 3 ปีข้างหน้าสามารถมีสัดส่วนรายได้จาก ต่างประเทศอยู่ที่ 30%
ผู้บริหารหนุ่มจากโออิชิเชื่อว่า ตลาดยังมีศักยภาพอีกมาก หากดูจากคู่แข่ง ชาเขียวที่มีศักยภาพในตลาดโลกก็มีเพียง "Pokka" จากญี่ปุ่น ที่เพิ่งถูกเทกโอเวอร์โดย "ซับโปโร" บริษัทผู้ผลิตเบียร์ชื่อดังจากญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน
"สาเหตุที่เลือกฮ่องกง เพราะมองว่าเป็นศูนย์กลางในการเปิดตลาดอินเตอร์ได้ กลยุทธ์สำคัญของเราคือโรงงานแห่งใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีระดับเวิลด์คลาส ที่ใช้เทคโนโลยีญี่ปุ่นเป็นตัวสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งคาดว่าโรงงานผลิตแห่งใหม่จะรองรับการเติบโตได้ถึงปีหน้า และจะต้องลงทุนสร้างฐานการผลิตใหม่อีก 1 ไลน์ โดยใช้งบฯอีก 1,100 ล้านบาท"
วันนี้การขับเคลื่อนของโออิชิ และไทยเบฟเวอเรจ จึงมองไปไกลนอกเหนือจากในประเทศ ไม่เฉพาะการแข่งขันในประเทศ อย่างไรก็ตามด้วยไทยซึ่งจะถูกพัฒนาไปเป็นศูนย์กลางทั้งการผลิต และโมเดลในการคิดค้นนวัตกรรมสินค้าและการทำตลาด ทำให้จากนี้เราจะเห็นสิ่งใหม่ ๆ ต่าง ๆ ถูกปล่อยออกมาจากยักษ์ใหญ่รายนี้อย่างต่อเนื่อง
อย่างน้อยในอีก 2 เดือนข้างหน้า เราจะเห็นชาเขียวผสมเก๊กฮวยภายใต้ แบรนด์ "คิคุชะ" ออกสู่ตลาด และปีหน้า ก็เตรียมจะผลิตสินค้าในกลุ่มใหม่เซ็กเมนต์ใหม่ออกมาขยายฐานลูกค้าใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง
ไม่แปลกที่วันนี้ โออิชิ ในฐานะผู้นำตลาด และไทยในฐานะประเทศที่จะกลายเป็น Head quarter และศูนย์กลางในทุกด้าน จึงอยู่ในฐานะที่แพ้ไม่ได้ในทุกกรณี
และเป็นเหตุให้การทำสงครามราคากับ "อิชิตัน" และคู่แข่งรายอื่น ๆ จึงจะไม่สิ้นสุดง่าย ๆ เช่นเดียวกัน
No comments:
Post a Comment