ตามคาดเสี่ยเจริญใส"ช้าง"เฉือนเป๊ปซี่วินาทีสุดท้าย พลิกทุ่มเงิน 6,400 ล้านบาท ปิดดีล"เสริมสุข"หลังเปิดศึกในการขัดแย้งยืดเยื้อข้ามปี พร้อมตั้งโต๊ะกวาดหุ้นจากรายย่อย เบ็ดเสร็จใช้เงิน 15,000 ล้าน ฐาปนเปิดแถลงทันที หวังติดปีกธุรกิจเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ไทยเบฟฯทะยาน เป๊ปซี่แถลงด่วน ยันไม่ทิ้งตลาดเมืองไทย
ปิดฉากศึกชิงหุ้นบริษัท เสริมสุข จำกัด(มหาชน) (บมจ.)(SSC) ระหว่างผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเป๊ปซี่โค กับบริษัท เอสเอสเนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด (SSN)(เอสเอสเอ็น) หลังกินเวลายาวนานเกือบปีครึ่ง และตามคาดบุรุษผู้อยู่เบื้อง SSN คือ เจ้าพ่อน้ำเมา"เจริญ สิริวัฒนภักดี" ตามที่มีกระแสข่าวลือตั้งแต่แรก
โดยเมื่อวันที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมา นายสมชาย บุลสุข ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ. เสริมสุข แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า บริษัทได้รับแจ้งจากบริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กับบริษัท เซเว่น -อัพ เนเธอแลนด์ บี.วีฯ หรือกลุ่มเป๊ปซี่โค และเอสเอสเอ็น ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของเสริมสุข ได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายหุ้นลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติมลงวันที่ 16 สิงหาคม 2554 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยผู้ขายคือกลุ่มเป๊ปซี่ ขายหุ้นให้บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติก จำกัด จำนวน 110.46 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 58 บาท มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 6,406.79 ล้านบาท
1.5หมื่นล.ฮุบเบ็ดเสร็จ
นอกจากนี้บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติก จำกัด จะเป็นผู้ทำคำเสนอซื้อ (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) หุ้นเสริมสุขทั้งหมดโดยสมัครใจ จากผู้ถือหุ้นทุกราย มีกำหนดเวลา 25 วันทำการ นับแต่วันที่ 15 กันยายน- 19 ตุลาคม 2554 โดยมีเงื่อนไขสำคัญว่า เป๊ปซี่โค ต้องส่งมอบหนังสือลาออกของกรรมการ ที่เสนอชื่อโดย เป๊ปซี่โค และการที่ผู้ขายหุ้นไม่ผิดคำรับรอง หรือข้อสัญญาเกี่ยวกับหุ้น หรือการถือหุ้นในบริษัท โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 14 กันยายนก่อน
อนึ่ง ปัจจุบันกลุ่มเป๊ปซี่โคถือหุ้นในเสริมสุขรวมกันประมาณ 41.55 % ขณะที่กลุ่มเอสเอสเอ็น ถือหุ้นเสริมสุข 32.62 % ทั้งนี้ หากกลุ่มไทยเบฟ จะทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ ซื้อหุ้นคืนทั้งหมด ต้องทุ่มเงินมากกว่า 15,403 ล้านบาท ขณะที่ก่อนหน้านี้มีการตั้งข้อสงสัยว่า กลุ่มเอสเอสเอ็น อาจมีความเกี่ยวพันหรือเกี่ยวข้องกับเจ้าพ่อน้ำเมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นเสริมสุข ปรับตัวลงแรงหลังเปิดซื้อขายในภาคบ่ายของวันที่ 9 กันยายน เนื่องจากราคาที่จะมีการตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นจากนักลงทุนทั่วไปที่ 58 บาทต่อหุ้นนั้น เป็นราคาต่ำกว่าราคาปิดวันก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 61.75 บาท โดยปิดตลาดที่ 25.25 บาท ลดลง 4.50 บาท คิดเป็น 7.29 %
ทั้งนี้ การเข้ามาซื้อหุ้นบมจ.เสริมสุขของบริษัท เอสเอสเอ็นฯ หลังจากเป๊ปซี่มีความขัดแย้งกับกลุ่มผู้ถือหุ้นและผู้บริหารคนไทย จนต่อมานายสมชาย บุลสุข ขายหุ้นในส่วนของตนและครอบครัว รวม 20 % ให้เอสเอสเอ็นนั้น มีกระแสอย่างต่อเนื่องว่านายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของไทยเบฟ คือผู้อยู่เบื้องหลังเอสเอสเอ็นตัวจริง เพราะมีแต่กลุ่มทุนนี้เท่านั้น ที่มีศักยภาพที่จะต่อรองกับบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่อย่างเป๊ปซี่ได้ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธมาโดยตลอด อีกทั้งการได้บมจ.เสริมสุขมา จะหนุนช่วยให้กลุ่มธุรกิจน้ำดื่มและเครื่องดื่มของค่ายไทยเบฟแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ทายาทเบียร์ช้างเปิดแถลงทันที
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ตั้งโต๊ะแถลงในค่ำวันเดียวกันทันทีว่า การเข้าซื้อหุ้นเสริมสุขในครั้งนี้ บริษัทสนใจในการนำจุดแข็งของเสริมสุข ด้านระบบการขนส่งสินค้า การกระจายสินค้า และคลังสินค้า ซึ่งเสริมสุขมีความแข็งแกร่ง สามารถเสริมธุรกิจของกลุ่มไทยเบฟได้ โดยเฉพาะในกลุ่มนอนแอลกอฮอล์ ซึ่งไทยเบฟมีเป้าหมาในการขยายตลาด และสร้างภาพลักษณ์ของไทยเบฟ ให้เป็นบริษัทมืออาชีพอย่างเต็มที่
ส่วนการบริหารจัดการของเสริมสุขหลังจากนี้ ต้องรอคณะกรรมการบริหารของเสริมสุข นำเสนอแนวทางการดำเนินธุรกิจอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งไทยเบฟเชื่อมั่นในการบริหารงานของทีมงานบริหารเสริมสุขเดิม ที่สร้างแบรนด์เป๊ปซี่ และสามารถทำตลาดให้เป๊ปซี่ได้ประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี ส่วนจะมีการขยายไลน์เครื่องดื่ม นอกเหนือจากน้ำดื่มคริสตัล ซึ่งเป็นแบรนด์เดียวที่เสริมสุขเป็นเจ้าของ หรือจะขยายไปผลิตเครื่องดื่มประเภทอื่น ๆ ต้องรอพิจารณาจากแผนธุรกิจของเสริมสุขหลังจากนี้
"สำหรับคุณสมชาย บุลสุข ประธานบริหารของเสริมสุข ถือเป็นบุคคลซึ่งเป็นที่ยอมรับและเป็นที่เคารพ ที่สามารถสร้างแบรนด์เป๊ปซี่จนประสบความสำเร็จ ซึ่งไทยเบฟต้องการสร้างเสริมธุรกิจให้เจริญเติบโต และมีความต่อเนื่องต่อไป" นายฐาปนกล่าว
ยันไม่คิดทำตลาดน้ำดำ
นายฐาปน กล่าวอีกว่า ไทยเบฟไม่มีแนวคิดที่จะเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มน้ำอัดลมแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มที่มีส่วนกำไร(มาร์จิน)น้อยกว่าเครื่องดื่มประเภทอื่น ๆ สิ่งที่น่าสนใจของเสริมสุขคือ เรื่องของระบบการขนส่งและกระจายสินค้า ที่มองว่าไม่ได้ซ้ำซ้อนกับส่วนของไทยเบฟที่มีอยู่ เนื่องจากเสริมสุขมีความถนัดด้านการกระจายสินค้า ในช่องทางเทรดดิชันนัลเทรด หรือตามร้านค้า ร้านอาหารทั่วไป มีรถกระแจขายสินค้ากว่า 1,400 คัน ขณะที่ ไทยเบฟเน้นการกระจายสินค้าผ่านเอเยนต์ มีรถขนส่งสินค้ากว่า 2,200 คัน และยังมีรถแคชแวนหรือหน่วยขายเงินสด อีกจำนวนหนึ่ง เพราะฉะนั้น ทั้งสองส่วนจะสามารถเสริมศักยภาพในการทำตลาดให้กับไทยเบฟได้เป็นอย่างดี
จับตาจับมือบิ๊กโคล่า
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวว่า มีการแนะนำให้ทางเสริมสุข เข้าเจรจากับบริษัท อาเจ ไทย จำกัด ผู้ผลิตเครื่องดื่มบิ๊กโคล่า ในการร่วมธุรกิจนั้น นายชนิทร์ เทียนเจริญ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ก่อนหน้านี้มีผู้แนะนำให้มีการเจรจากันจริง แต่ขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยกันอย่างเป็นทางการ ซึ่งหลังจากนี้ คงต้องรอให้จบดีลการทำคำเสนอซื้อ และแนวทางการดำเนินงานของเสริมสุขเรียบร้อยก่อน ซึ่งหากสามารถร่วมงานกันได้ ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจ
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "กลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มีความสัมพันธ์อันดีกับทางบริษัทเสริมสุขฯมาโดยตลอด เนื่องจากเสริมสุขได้เป็นผู้กระจายสินค้าโออิชิและเครื่องดื่มไม่ผสมแอลกอฮอล์ให้กับไทยเบฟ การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ จึงถือเป็นการเสริมสร้างธุรกิจ ทำให้การกระจายสินค้าของเราสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะสินค้าประเภทเครื่องดื่มไม่ผสมแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ เสริมสุขเองก็ยังมีผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไม่ผสมแอลกอฮอล์ ที่จะสามารถต่อยอดทางธุรกิจต่อไปได้อีก"
ด้านนายศักดิ์ชัย ธนบุญชัย กรรมการ บริษัท เอสเอสเอ็นฯกล่าวต่อ ว่า ไทยเบฟแสดงความสนใจลงทุนใน บมจ.เสริมสุขนั้น ไม่ได้กังวลว่าจะต้องยังมีธุรกิจน้ำดำ แบรนด์"เป๊ปซี่"ด้วยเท่านั้น สำหรับทางกลุ่มเอสเอสเอ็น ยืนยันลงทุนในระยะยาว ดังนั้น จะไม่นำหุ้นออกมาขายด้วย (ถืออยู่ 86,732.20 ล้านหุ้นสัดส่วน 32 %) ซึ่งเป็นกลุ่มทุนที่บริษัทได้เข้าไปเจรจานำเสนอเพื่อให้เข้ามาร่วมลงทุน
ส่วนด้านการเจรจาตกเมื่อช่วงเช้าวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมานั้นเป็นการเสนอซื้อของด้าน เป๊ปซี่ ที่ราคา 58 บาทต่อหุ้น แต่ทางกลุ่มเอสเอสเอ็นขอเจรจากลับว่า จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าราคาดังกล่าวจะซื้อหรือจะขายแทน ทั้งนี้ ในสัญญาเจรจาจะต้องเสนอก่อน 08.30 น.หากมาหลังจากนั้นทางเป๊ปซี่มีสิทธิ์ซื้อที่ราคา 42 บาทได้
เป๊ปซี่ยันไม่ทิ้งตลาดไทย
บ่ายวันเดียวกัน ทางด้านบริษัทเป๊ปซี่โคฯ ส่งเอกสารแถลงข่าวถึงสื่อมวลชน ยืนยันความตั้งใจที่จะยังคงการลงทุนในเมืองไทย และหาทางเลือกใหม่ในด้านการบรรจุขวดและจัดจำหน่ายในตลาดเมืองไทยต่อไป ว่า แม้บริษัท เอสเอสเอ็นฯ ตัดสินใจซื้อหุ้นเสริมสุข ที่เป๊ปซี่ถืออยู่ แต่เป๊ปซี่ยังคงมุ่งหน้าตามแผนการ ที่จะสร้างทางเลือกในการบรรจุขวดและจัดจำหน่ายเพื่อธุรกิจเครื่องดื่มในประเทศไทย บริษัทมีศักยภาพทางการเงินที่มั่นคงและเพียงพอ ที่จะใช้ในการทดแทนการบรรจุขวดและจัดจำหน่ายของเสริมสุขในอดีตที่ผ่านมา
"เป๊ปซี่ได้ร่วมมือกับเสริมสุข และประสบความสำเร็จมาโดยตลอด เป็นระยะเวลาหลายปี เรายังคงจะทำงานกับเสริมสุขอย่างใกล้ชิดจวบจนหมดสัญญา Exclusive Bottling Appointment (EBA) ในเดือนพฤศจิกายน 2555 ซึ่งจะเป็นการรับประกันความต่อเนื่องของสินค้าให้กับลูกค้า ระหว่างที่เป๊ปซี่จัดตั้งธุรกิจการบรรจุขวดและจัดจำหน่ายแห่งใหม่ต่อไป" แถลงการณ์ย้ำ
อนึ่ง กลุ่มเป๊ปซี่ ประกาศทำคำเสนอซื้อหุ้นเสริมสุขช่วงเดือนเมษายน 2553 โดยผ่านบริษัท สตราทีจิค เบฟเวอร์เรจเจส(ประเทศไทย)ฯ ที่ราคา 29 บาทต่อหุ้น ตั้งโต๊ะรับซื้อวันที่ 29 เมษายน-8 มิถุนายน 2553 หลังจากนั้นก็ประกาศยกเลิกทำคำเสนอซื้อเนื่องจากได้หุ้นต่ำกว่าเป้าหมาย ต่อมาบริษัท เอสเอสเนชั่นแนล โลจิสติกส์ฯ หรือSSN ได้ประกาศทำคำเสนอซื้อระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม-2 ธันวาคม 2553 โดยที่ราคาเสนอซื้อที่ 42 บาทต่อหุ้น ซึ่งกลุ่มบุลสุข ได้ขายหุ้นในครั้งนี้ด้วย
No comments:
Post a Comment